ประเด็นร้อน

แบบอย่างไม่มี..เด็กดีเกิดยาก!

โดย ACT โพสเมื่อ Jun 16,2017

 - -สำนักข่าว แนวหน้า วันที่ 16/06/60 - -


พูดถึงคำว่า "คอร์รัปชั่น-ทุจริต" นึกถึงอะไร?หลายคนคงตอบทำนอง "ข้าราชการเรียกรับสินบน", "นักธุรกิจเอกชนจ่ายใต้โต๊ะให้ได้งานประมูล", "นักการเมืองซื้อเสียงเพื่อหวังชนะการเลือกตั้ง"แล้วก็คงสรุปว่า "ไม่เกี่ยวกับฉัน" เพราะวันนี้ฉันเป็นเพียงประชาชนทั่วไป ไม่ได้มียศมีตำแหน่ง ไม่ร่ำไม่รวยไม่มีอำนาจใหญ่โต ไม่ได้ทำธุรกิจกับทางราชการ "ฉันไปจะทำเรื่องแบบนั้นได้อย่างไร?" ทว่าเอาเข้าจริงๆ แล้ว ไม่ว่า "ยากดีมีจน" เรา (แทบ) ทุกคน ตั้งแต่เกิดมาบนโลกนี้ต้องเคยผ่านการทำเรื่องไม่ค่อยจะดีเท่าไรกันมาบ้าง
          
ดังรายงาน คนไทยมอนิเตอร์ 2557  ที่สำรวจความคิดเห็นของเยาวชน 4,000 คน ทั่วประเทศ ในหมวด การยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง สะท้อนมุมมองคน รุ่นใหม่ต่อเรื่อง "เทาๆ ดำๆ" ไว้อย่างน่าเป็นห่วง อาทิ เรื่องผิดๆ ที่ทำมากที่สุด พบว่า อันดับ 1  ลอกข้อสอบเพื่อนหรือให้เพื่อนลอก ร้อยละ 81 รองลงมา อันดับ 2 เซ็นชื่อเข้าเรียนแทนเพื่อนหรือให้เพื่อนเซ็นชื่อแทนให้ ร้อยละ 63 อันดับ 3  ใช้สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ร้อยละ 38 และ อันดับ 4  จ่ายเงินติดสินบนตำรวจเพื่อหลีกเลี่ยงใบสั่ง ร้อยละ 18 ชี้ให้เห็นว่าหลายเรื่องกลายเป็นเรื่องธรรมดา แม้จะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องนักก็ตาม
          
เมื่อเดือน พ.ค. 2560 ที่ผ่านมา มีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ถูกพูดถึงมาก คือ "ฉลาดเกมส์โกง" ซึ่งสามารถทำรายได้ไปถึงหลักร้อยล้านบาทในระยะเวลาราวเดือนเศษก่อนจะลาโรงไป โดย นัฐวุฒิ พูนพิริยะผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ กล่าวในเวทีเสวนา "คุยเรื่องโกงผ่านหนัง" ที่จัดโดย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ณ โรงภาพยนตร์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ห้างสยามพารากอน กรุงเทพฯ ถึงแรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์ ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในสถาบันการศึกษา เป็นเรื่องที่เราต่างก็รู้กันอยู่ "คุ้นเคย" จนกลายเป็นความ "ชินชา" ไม่รู้สึกอะไร อาทิ เรื่องการลอกและให้ลอกข้อสอบ การจ่าย "แป๊ะเจี๊ยะ" ในชื่อสวยๆ ว่า "ค่าบำรุงการศึกษา" หรือการที่ครูบางคนเปิดสอนพิเศษในลักษณะ "บอกข้อสอบล่วงหน้าสำหรับคนจ่ายเงินเรียน"เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การเล่าเรื่องในภาพยนตร์ก็ไม่ได้เป็นการ "ฟันธง" กำหนดให้ผู้ชมต้องเลือกทางเดินชีวิตแบบใด แต่เป็นการ "ทิ้งประเด็น" ไว้ให้คิดว่า ในชีวิตคนเราต้องผ่าน "บททดสอบ" มากมาย แน่นอน "ทุกคนมีทางเลือก" ซึ่งเมื่อเลือกไปแล้วก็ต้อง "เรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน" และมันจะมี "ผลลัพธ์"ที่ติดตัวไปตลอด
          
"สิ่งเหล่านี้พอเราโตขึ้นแล้วถอยห่างมาจากมัน แล้วมันก็ทำให้ผมเกิดคำถามว่า เราอยู่กับมันจนเรารู้สึกคุ้นเคยหรือเคยชินกับมันมากเกินไปหรือเปล่า? ทั้งที่จริงๆ แล้วถ้าถามว่าถูกต้องไหม? มันก็คงไม่ถูกต้อง แล้วมันก็ทำให้ผมย้อนกลับมามองว่า สังคมที่เราอยู่ความขาวกับดำมันเริ่มเลือนราง มันกลายเป็นสังคมสีเทาๆ จนเราไม่รู้ว่าจะสามารถชี้ถูกชี้ผิดกับใครได้อย่างชัดเจน อันนี้เป็นสิ่งที่ผมได้จากการทำวิจัย หนังเรื่องนี้นอกจากจะทำให้มันสนุกสนานแล้ว เราสามารถสร้างมิติบางอย่างที่พูดถึงสังคมและเยาวชนได้" นัฐวุฒิ กล่าว
          
แม้ภาพยนตร์จะว่าด้วยเรื่องราวของวัยรุ่น 4 คน ที่มารวมหัวกันทำเรื่องไม่ค่อยดีอย่างการโกงสอบระดับโลก แต่จุดเริ่มต้นก่อนหน้านั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า "ผู้ใหญ่" ก็มีส่วนไม่น้อย เช่น ครูออกข้อสอบเหมือนกับที่สอนพิเศษนอกเวลาเรียน ทำให้เกิดข้อได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างเด็กที่จ่ายเงินเรียนกับครูคนดังกล่าวกับเด็กที่ไม่ได้เรียน "เมื่อเห็นผู้ใหญ่ทำแบบนี้ได้ไม่มีใครทักท้วง" ย่อมไม่แปลกที่เยาวชนจะคิดว่าตนเองก็สามารถทำได้บ้าง
          
ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ อดีตนักร้องดังที่เคยฝากผลงานอย่าง "ซ้ำเติม", "ทำใจลำบาก", "อีกหน่อยเธอคงเข้าใจ" รวมถึงเคยทำค่ายเพลง "Music Bugs" อยู่ระยะหนึ่ง ซึ่งร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้ ด้วย กล่าวว่า บทบาทของตนในภาพยนตร์เป็นทั้ง "พ่อ" และประกอบอาชีพ "ครู" ว่า คนเป็นพ่อเป็นแม่ จะมีอิทธิพลกับชีวิตของคนเป็นลูกค่อนข้างมาก แต่ไม่ใช่จาก "คำพูด" หากแต่เป็น "การกระทำ" ให้เห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่า พ่อ-แม่ทุกคนสอนลูกเสมอว่า "จงเป็นคนดี"แต่ในความเป็นจริงลองถามตนเองว่า แต่ละวันเราได้แสดงอะไรให้ลูกหลานได้เห็นบ้าง?
          "ทุกคนลองมองตัวเอง ไม่ต้องมองคนอื่น ว่าจริงๆ แล้วเราทำตามที่พูด เป็นตัวอย่างให้ลูกหรือเปล่า? เราพูดอย่างไรมันไม่สำคัญเท่ากับที่เราทำ เพราะฉะนั้นอิทธิพลอยู่ที่เรา" ธเนศ ฝากข้อคิด ตัวอย่างที่เด็กเห็นและ "ซึมซับ" จากสภาพแวดล้อมรอบตัวอยู่ทุกวัน มีผลต่อการประพฤติตน แตกต่างไปจากสิ่งที่ได้รับการอบรมสั่งสอนมา เรื่องนี้มี ข้อค้นพบจากเกม "Corrupt" ซึ่งเป็นผลงานฝีมือคนไทย เกมนี้เป็นเสมือน "แบบทดสอบ" ให้ผู้เล่นได้เลือก "เส้นทางเดินชีวิต" เมื่อพบกับเหตุการณ์ที่แตกต่างกันไป โดย ปฏิพัทธ์ สุสำเภา ผู้ก่อตั้งบริษัท Opendream ในฐานะผู้พัฒนาเกมนี้ เปิดเผยว่า
          
วิธีการสอนคนอาจแบ่งได้ 3 แบบ คือ "สอนให้จำ-ทำให้ดู-ให้รู้เอง" ในส่วนของสอนให้จำ คงจะใช้กับคนรุ่นใหม่ๆ ไม่ค่อยได้นัก แต่การทำให้ดูและให้รู้เองจะเข้าถึงได้ง่ายกว่า เป็นที่มาของความพยายาม "สอดแทรก" ประเด็นการทุจริตคอร์รัปชั่นไว้ในเกม ทั้งนี้ ข้อค้นพบหลังมีผู้สนใจเข้ามาเล่นเป็นจำนวนมาก คือ "อายุที่มากขึ้น" มีผลต่อการตัดสินใจเลือกว่าจะ "หยุดยั้ง" หรือ "ปล่อยไป" เมื่อผู้เล่นพบกับการคอร์รัปชั่นประเภทต่างๆ
          
"เราเก็บข้อมูลตัวเลือกของผู้เล่นไว้ แล้วพบว่าเด็กอายุสิบกว่าๆ กับผู้ใหญ่อายุสามสิบกว่าๆ มีวิธีการตัดสินใจไม่เหมือนกัน เช่น ถ้าให้เลือกว่าจะโกหก เด็กจะเลือกโกหกช้ากว่าผู้ใหญ่ หรือถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับพวกพ้อง เด็กจะเลือกพวกพ้องน้อยกว่าผู้ใหญ่" ปฏิพัทธ์ กล่าวย้อนกลับไปที่รายงาน คนไทยมอนิเตอร์ มีการจำลองสถานการณ์ โดยถามว่า "หากไปสอบใบขับขี่รถยนต์แล้วไม่ผ่าน แต่มีทางเลือกให้จ่ายเงินติดสินบนเจ้าหน้าที่เพื่อให้ได้ใบขับขี่มา จะยอมจ่ายหรือไม่?" แม้มุมหนึ่งจะพบว่า เยาวชนกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 75 ตอบว่าไม่จ่าย มีเพียงร้อยละ 25 เท่านั้นที่ตอบว่าจ่าย แต่อีกมุมหนึ่ง "หากเจาะลึกเป็นกลุ่มๆ" จะพบว่า "ครอบครัว" เป็นตัวแปรที่สำคัญมากในการเลือกตอบว่าจ่ายหรือไม่จ่าย
เช่น ในกลุ่มที่ตอบว่า "จ่าย" มาจากครอบครัวประเภท "ตามใจ" มากที่สุด ร้อยละ 33 รองลงมาเป็นครอบครัวประเภท "ทอดทิ้ง" ร้อยละ 30 อันดับ 3 เป็นครอบครัวแบบ "ควบคุม" ร้อยละ 29 ส่วนครอบครัวประเภท "รักและเอาใจใส่" มีเยาวชนที่ตอบว่าจ่ายน้อยที่สุด เพียงร้อยละ 24 ในทางกลับกัน กลุ่มที่ตอบว่า "ไม่จ่าย" มาจากครอบครัวประเภทรักและเอาใจใส่มากที่สุด ร้อยละ 76 รองลงมาคือครอบครัวประเภทควบคุม ร้อยละ 71 อันดับ 3 ครอบครัวประเภททอดทิ้ง ร้อยละ 70 และครอบครัวประเภทตามใจ มีเยาวชนที่ตอบว่าไม่จ่ายอยู่น้อยที่สุด เพียงร้อยละ 67
          
ขณะที่ภาคการศึกษา ผลการสำรวจของ สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) ที่เปิดเผยเมื่อปลายเดือน เม.ย. 2560 ชี้ว่า สถาบันการศึกษาไทยมีปัญหาทุจริตในทุกระดับ โดยระดับอุดมศึกษา (มหาวิทยาลัย) เป็นสถาบันการศึกษาที่มีการทุจริตมากที่สุด ได้ 7.30 จาก 10 คะแนน รองลงมาเป็น อาชีวศึกษา 7.25 คะแนน และการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ประถม-มัธยม) 7.18 คะแนน อีกทั้งประชาชนยังไม่ค่อยมั่นใจว่า รัฐบาลปัจจุบันโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะแก้ปัญหาได้ โดยให้คะแนนเพียง 6.86 จากเต็ม 10 เท่านั้น
          
บทสรุปของเรื่องนี้..ผู้ใหญ่ทั้งหลายโดยเฉพาะคนเป็นพ่อ-แม่ผู้ปกครองและครูบาอาจารย์ คงต้อง "ย้อนมองตนเอง" เช่นกัน เพราะในขณะที่ต่าง คาดหวังให้ลูกหลาน ให้เด็กและเยาวชนเติบโตขึ้นมา "ไม่คดไม่โกง-ซื่อสัตย์สุจริต" เป็นคนดีของสังคม เป็นพลเมืองที่ดีต่อเพื่อนร่วมชาติร่วมโลก ท่านได้สร้างสภาพแวดล้อมที่ "เอื้อ" ต่อการเติบโตของเด็กและเยาวชน
ให้ไปในแนวทางที่ถูกที่ควรแค่ไหน?